มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติผู้แต่งคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง

ประวัติผู้แต่งคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง
           ในด้านประวัติของผู้รจนาคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  ก็เหมือนกับปรัชญาเมธีคนอื่นๆ ของจีนที่มีประวัติพอจะสืบทราบได้รายละเอียดบ้าง  หยาบบ้าง  อย่างไรก็ตามทุกคนก็มีหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริง  แต่ชีวประวัติของเล่าจื้อนั้นคลุมเครือมาก  ดังนั้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเล่าจื้อจึงไม่ตรงกัน  ทำให้เกิดเป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจนักปราชญ์จีนผู้นี้ในเชิงประวัติศาสตร์

            เล่าจื้อ
           ในการศึกษาปรัชญาเต๋า  ตำราที่ใช้เป็นหลักคือ  คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  หรือบางที่เรียกว่า  คัมภีร์เล่าจื้อ  โดยใช้เล่าจื้อมาเป็นชื่อของคัมภีร์ด้วย  เพราะเชื่อกันว่าคัมภีร์นี้แต่งขึ้นโดยเล่าจื้อ  แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ข้อสงสัยได้ว่า  เล่าจื้อนั้นเป็นใครกันแน่  มีตัวตนจริงหรือไม่
           ประวัติของเล่าจื้อที่นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของจีนบันทึกไว้ในหนังสือ  ชื่อ-จี  กล่าวไว้ว่า  เล่าจื้อเป็นพลเมืองแห่งหมู่บ้านฉยู-เยน  ตำบลหลีเวียง  อำเภอคู  รัฐชู (ฌ้อ)  มีชื่อตัวว่า  เออ  ได้รับสมัญญาศักดิ์ว่า  ตาน  และอยู่ในตระกูลลี้ (แซ่ลี้)  เล่าจื้อรับราชการเป็นพนักงานประจำหอพระสมุดในเมืองจู
           อีกตอนหนึ่ง  กล่าวถึงการพบปะกันระหว่างเล่าจื้อและขงจื้อว่า  ขงจื้อเดินทางไปยังเมืองจู  เพื่อถามเล่าจื้อถึงกฎเกณฑ์แห่งขนบประเพณีและวัฒนธรรม  เล่าจื้อตอบว่า
           บุคคลที่ท่านกล่าวถึงนั้นตายไปแล้ว  และกระดูกก็ผุพังไปแล้วทั้งสิ้น  มีแต่คำสอนเท่านั้นที่ยังคงอยู่  เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมบัณฑิตก็จะนั่งรถเข้ามา  แต่ถ้าไม่ถึงเวลาเขาก็จะหลบซ่อนและหลีกหนีไปเสียให้พ้น  ข้าพเจ้าเคยทราบว่าพ่อค้าที่ฉลาดนั้นเก็บซ่อนสินค้าไว้  ราวกับว่าไม่มีสินค้าอยู่ในร้าน  บัณฑิตผู้ทรงคุณธรรมก็แสดงท่าทีราวกับว่าเป็นคนโง่เขลา  จงสละความเย่อหยิ่ง  กิเลสตัณา
หา  เลิกวางท่าเป็นเจ้าขุนมูลนาย  สิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่านเลย  ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะบอกท่านเพียงเท่านี้
           ขงจื้อกลับไปเล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า
           ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าเหตุใดวิหคจึงอาจบินไปในฟากฟ้า  ปลาอาจแวกว่ายในสายธาร  และสัตว์บกอาจเดินเหินอยู่บนแผ่นดิน  แต่สัตว์ที่วิ่งได้อาจถูกจับด้วยแร้ว  ที่ว่ายน้ำได้อาจถูกจับด้วยแหและเบ็ด  ที่บินได้อาจถูกยิงด้วยเกาทัณฑ์  ครั้นมาพิจารณาถึงมังกร  ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลยว่า  เหตุใดมังกรจึงอาจเหินบินอยู่ในห้วงหาวพลิ้วไปกับสายลม  ลอยล่องไปกับก้อนเมฆ  มังกรนั้นไม่มีใครจะจับอยู่  บัดนี้  ข้าพเจ้าเห็นมีเพียงเล่าจื้อเท่านั้นที่อาจเปรียบเทียบได้กับมังกรแห่งสวรรค์
           เล่าจื้อปฏิบัติเต๋า  คำสอนของเขานั้นมุ่งที่จะขจัดความยึดมั่นในตัวตน  และแสวงหาความไม่ยึดติด  เมื่อได้อยู่ในเมืองจูเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว  เขาเห็นว่าการปกครองในเมืองนั้นเสื่อมลงจึงออกจากเมืองไป  ขณะที่ไปถึงประตูเมืองนั้นนายประตูขอร้องว่า  ท่านจะจากไปแล้ว  ของจงเขียนหนังสือทิ้งไว้ให้ข้าพเจ้าสักเล่มหนึ่งเถิด  เล่าจื้อจึงเขียนหนังสือเป็นสองตอน  ว่าด้วยเรื่องเต๋าและคุณธรรม  เป็นอักษรจีนรวมได้  5,250  ตัว  แล้วก็จากไป  ไม่มีใครทราบว่าจากนั้นเล่าจื้อไปจบชีวิตลงอย่างไร
           มีบางคนพูดถึง  เหล่า ไล่ จื้อ  ซึ่งเป็นชาวเมืองชูเหมือนกันว่า  ได้เขียนหนังสือขึ้นมีความยาว  15  ตอน  พูดถึงวิธีปฏิบัติตามคำสอนของเต๋า และกล่าวกันว่าเป็นบุคคลสมัยเดียวกับขงจื้อ  อาจเป็นไปได้ว่า  เล่าจื้อมีอายุยืนยาวกว่า  160  ปี  บางคนบอกว่ามากกว่า  200  ปี  ทั้งนี้เพราะ             เล่าจื้อปฏิบัติเต๋าทำให้ชีวิตยืนยาวกว่าธรรมดา
           เสถียร  โพธินันทะ  กล่าวว่า  ในหนังสือที่ชื่อ  ซื่อกี่  ได้บันทึกไว้ว่า มีบางคนกล่าวว่า  เหล่าไล่จื้อ  ก็เป็นชาวรัฐฌ้อ  เป็นผู้เขียนคัมภีร์ไว้มี  15  บท  ว่าคุณสมบัติในลัทธิเต๋า  เขามีชีวิตร่วมสมัยกับขงจื้อ  อันเหลาจื้อนั้นมีอายุยืน  160  ปี  บ้างก็ว่ามีอายุ  200  ปี  ทั้งนี้เพราะเหลาจื้อได้บำเพ็ญเต๋า  ทำให้สามารถมีอายุยืนได้อย่างนั้น  เมื่อขงจื้อมรณภาพไปแล้ว  129  ปี  แต่กระนั้นก็มีขุนนางผู้บันทึกประวัติศาสตร์ราชสำนักจิงคนหนึ่งชื่อตัม ฯลฯ  บางคนก็ว่าผู้นี้แหละคือเล่าจื้อบ้างก็ว่าไม่ใช้
           ฉัตรสุมาลย์  กล่าวว่า  เหลาไล่จื้อเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีชีวประวัติผูกพันกับเล่าจื้อ  แต่เดาไม่ออกว่าเพราะเหตุใด  สุมาเฉียนจึงกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของเล่าจื้อด้วย  สุมาเฉียนอาจจะเพียง   ต้องการชี้ให้เห็นในสมัยนั้นมีการเข้าใจผิดว่า  บุคคลทั้งสองเป็นคนเดียวกัน  แต่เป็นที่ประจักษ์ว่า  สำหรับสุมาเฉียนเองนั้น  แน่ใจว่าเป็นบุคคลสองคน  คนหนึ่งเขียนหนังสือแบ่งเป็นสองภาค  ว่าด้วยวิถีแห่งเต๋าและคุณธรรม  และอีกคนหนึ่งเป็นผู้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง  ซึ่งแบ่งเป็น  15  ตอน  กล่าวถึงภาคปฏิบัติตามหลักของเต๋า  ซึ่งข้าพเจ้าเข้าว่า  เล่มแรกเป็นปรัชญาเต๋า  ในขณะที่เล่มที่สองเนื้อหาหนักไปทางศาสนาเต๋า
           ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเรื่องราวของเหลาไล่จื้อไว้มากนัก  อาจารย์ปีหยวน  กล่าวว่า  ไล่เป็นชื่อสกุล  ซึ่งใช้กันมากในสมัยโบราณ  ส่วน  เล่าหรือเหลา  นั้นเป็นชื่อที่คนอื่นเรียกแสดงถึงความสูงอายุ  นักศึกษาชาวจีนส่วนมากยอมรับว่าเหลาไล่จื้อเป็นคนละคนกับ  เล่าจื้อ
           แต่อาจารย์เฉียนมู  คิดว่า  คนที่ขงจื้อไปพบปะสนทนานั้นเป็นเหลาไล่จื้อ  โดยอ้างหลักฐานในจวงจื้อว่า  เหลาไล่จื้อ  สอนให้ขงจื้อสละความเย่อหยิ่งและทะนงในความรู้แห่งตนลงเสีย  แต่เราได้พิจารณาแล้วว่าหลักฐานที่ได้จากจวงจื้อฝ่ายเดียวนั้นยังไม่เป็นที่เชื่อถือในเชิงประวัติศาสตร์ได้มากนัก  อาจารย์เฉียนมูเองก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า  ขงจื้อสรรเสริญเมธีทั้ง  11  ท่านนั้น  ในจำนวนนั้นไม่ได้กล่าวถึงเหลาไล่จื้อเลย  อีกตอนหนึ่งจากหลักฐานที่ขงจื้อๆ ไปพบชายชราหาบหญ้าและขงจื้อได้รับคำแนะนำจากชายชราผู้นั้นว่า  ควรจะละทางโลกเสียได้แล้ว  อาจารย์เฉียนมูเข้าใจว่า  ชายชรานั้นเป็นเหลาไล่จื้อ  และคำว่าไล่  แปลว่า  เก็บเกี่ยวหญ้า  ซึ่งเหตุผลข้อนี้อ่อนมาก
           นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า  129  ปี  หลังจากที่ขงจื้อสิ้นชีวิตไปแล้ว  มีนักประวัติศาสตร์คนสำคัญชื่อ  ตาน  แห่งเมืองจู  ได้เข้าพบผู้ปกครองชื่อ  เฉียน  แห่งเมืองชิน  และในการสนทนานั้นมีความว่า  ตอนเรียนชินรวมตัวกับจูแล้วก็แยกออกไป  ต่อจากนั้นอีก  500  ปี  ก็รวมตัวกันอีก  จากนั้นอีก  70  ปี  จะเกิดมีเจ้าเมืองเล็กๆขึ้น  บางคนบอกว่า  นักประวัติศาสตร์ชื่อตานนี้เป็นคนเดียวกับเล่าจื้อ  แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ยอมรับ
           สุมาเฉียนบันทึกว่า  ตาน  ไปพบเจ้าเมืองชิน  ในปี  374  ก่อนคริสตกาล  แต่ไม่แน่ใจว่า  ตนคนนี้คือเล่าจื้อหรือไม่  เพราะบางเสียงก็บอกว่าใช่  บางเสียงก็ว่าไม่ใช่  บางคนเชื่อว่า  ตานกับเล่าตานเป็นคนละคนกัน  แต่เนื่องจากคนทั้งสองรับราชการมีชื่อเสียงคล้ายกัน  และทั้งคู่เดินทางไปทางตะวันตก  จึงทำให้เกิดการสับสนนึกว่า  เป็นคนเดียวกัน
           สุมาเฉียนบันทึกไว้ว่า  เล่าจื้อเป็นนักพรต  มีบุตรชื่อสุง  ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นแม่ทัพแห่งรัฐเว่  ไปกินเมืองตวนกาน  บุตรของสุงชื่อจู  และบุตรของจูชื่อกุงกุง  มีเหลนชื่อเจีย  ซึ่งได้รับราชการกับพระเจ้าเชียวเวนแห่งราชวงศ์ฮั่น  บุตรชายของเจีย  ชื่อเจียะ  ผู้ซึ่งได้เป็นอาจารย์พิเศษถวายความรู้แก่เจ้าชายเจียวสีแห่งเมืองชุง  และย้ายไปอยู่เมืองชี
           เราพอจะสรุปได้ว่า  มีการพูดถึงบุคคลทั้งหมด  3  คน  คนแรกคือ  เล่าจื้อที่ขงจื้อไปพบปะสนทนาด้วย  คนที่สองคือ  เล่าไล่จื้อ  และอีกคนหนึ่งคือนักประวัติศาสตร์ชื่อตาน  จะเห็นได้ว่า  สุมาเฉียนซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องราวเองก็เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจ  สังเกตได้จากการใช้คำพูดว่า  มีบางคนพูดว่า,  อาจเป็นไปได้ว่า  เหล่านี้  เป็นต้น  ศาสตราจารย์ชานวิงสิท  ตั้งข้อสังเกตว่า  ที่สุมาเฉียนพูดว่า  เล่าจื้อมีอายุยืนผิดธรรมดานั้น  อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะเสริมข้อมูลเพื่อผูกเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นเรื่องราวที่ปะติดปะต่อกันได้
           จะเห็นได้ว่าข้อมูล  เหตุผล  และข้อขัดแย้งต่างๆ ไม่มีเหตุผลของฝ่ายใดที่จะนำมายืนยันได้อย่างเต็มที่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวประวัติของเล่าจื้อ,  การพบกับขงจื้อหรือความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ที่ถูกกล่าวอ้างถึง  และมีการเสนอถึงขั้นที่ว่า  เล่าจื้ออาจจะไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์  ซึ่งทำให้เกิดคำถามโยงไปยังตัวคัมภีร์ด้วย  ตัวอย่างเช่น  เลียงชี-เชา  ที่ประกาศทฤษฎีโค่นล้มความเชื่อทั้งปวงที่ว่า  คัมภีร์เต๋าเป็นคัมภีร์ที่เขียนในสมัยเล่าจื้อ  โดยให้เหตุผลว่า  แนวความคิดของคัมภีร์นั้น  ทันสมัยเกนกว่าที่จะเป็นแนวความคิดในสมัยชุนชิว  ซึ่งเป็นสมัยที่เล่าจื้อมีชีวิตอยู่  และศัพท์ที่ใช้ก็เป็นคำศัพท์ของสมัยต่อมาคือ  สมัยเจี๊ยนก๊ก  มากกว่า
           ฉัตรสุมาลย์  กล่าวสรุปว่า  ข้าพเจ้าเชื่อว่าเล่าจื้อเป็นบุคคลในประวัติจริง  และได้พบปะกับขงจื้อ  จนเกิดมีบันทึกข้อความที่เล่าจื้อสอนขงจื้อขึ้น  โดยเหตุผลที่ฝ่ายลัทธิขงจื้อเองก็ไม่เคยแม้จะสร้างความพยายามเพื่อทำลายล้างหลักฐานนี้เสีย  ทั้งๆ เป็นหลักฐานที่นอกจากจะเชิดชูเล่าจื้อแล้ว  ในการเปรียบเทียบจะเห็นว่า  ขงจื้อเป็นรองเล่าจื้ออีกด้วย  ถ้าการพบกันครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนแล้ว  ฝ่ายขงจื้อน่าจะยกเหตุผลขึ้นมาทำลายหลักฐานนี้เสีย
           เมื่อกล่าวถึงประวัติเล่าจื้อ  ก็จำต้องพูดถึงศาสนาเต๋าด้วย  ซึ่งมักมีผู้เข้าใจว่าเล่าจื้อเป็นผู้ตั้งศาสนาเต๋า  อันที่จริงศาสนาเต๋าเชื่อถือบูชาพระเจ้าประจำธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นความเชื่อดั่งเดิมของผสมกับความเชื่อในวิชาเล่นแร่แปรธาตุ  ผลิตยาอายุวัฒนะสำหรับกินให้เป็นทิพย์  ในสมัยกลางราชวงศ์ตังฮั่น  ได้มีนักพรตคนหนึ่งชื่อ  เตียเต๋าเล้ง  ประกาศว่าได้สำเร็จทิพยภาวะติดต่อกับเทพเจ้าได้  ตั้งศาสนาเต๋าขึ้น    สำนักภูเขาเหาะเม่งซัว  มณฑลเสฉวน  โดยยกเล่าจื้อขึ้นเป็นศาสดา  เอาคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเป็นสูตรของศาสนา  แล้วตนเองก็แต่งคัมภีร์สั่งสอนลัทธิอีกหลายเล่มล้วนหนักไปทางอภินิหารฤทธิ์เดชเวทย์มนตร์และพิธีกรรมขลังต่างๆ รวมทั้งวิธีบำเพ็ญฌานถอดดวงวิญญาณไปรวมกับเต๋า  หรือ วิธีสร้างยาอายุวัฒนะ  เป็นต้น  ทั้งนี้มีลักษณะละม้ายการบำเพ็ญโยคะของโยคีอินเดียผสมกับลัทธิอถรรพเวทของพราหมณ์อย่างละครึ่ง  ซึ่งมีคำเรียกนักพรตในศาสนานี้ว่า  เต๋ายิ้น  แปลว่า  ผู้บำเพ็ญเต๋า
           ในสมัยสามก๊ก  หลานของเตียเต๋าเล้ง  ชื่อเตียลู้  สืบตำแหน่งเป็นเจ้าลัทธิซ่องสุมสาวก  เป็นกบฏตั้งตัวเป็นกษัตริย์  แต่ถูกโจโฉปราบได้  บุตรชายเตียลู้  ชื่อเตียเส็ง  ตั้งสำนักใหม่ที่ภูเขาเล่งโฮ้วซัว  มณฑลกังไส  สั่งสอนลัทธิธรรม  โดยมีเจ้าลัทธิสืบสกุลแซ่เตียต่อเนื่องกันลงมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง  เนื่องจากปฐมวงศ์ของราชวงศ์ถัง  แซ่ลี้  กษัตริย์ในราชวงศ์นี้จึงเชื่อว่าราชวงศ์ของพระองค์เป็นสังฆญาติกับเล่าจื้อ  จึงมีโองการสถาปนาเล่าจื้อขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ทรงเป็นประธานแห่งความศักดิ์สิทธิ์
           ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หงวน  พระเจ้าหงวนซุ่นตี่  มีโองการตั้งลัทธิเต๋าชื่อเตียวจงอิ๊ง  ขึ้นเป็นเทพาจารย์  นับจำเดิมตั้งแต่นั้นมา  เจ้าลัทธิทุกคนก็ใช้ชื่อว่าเทพาจารย์เป็นสมณศักดิ์ของตนถึงปัจจุบันนี้

           จวงจื้อ

           จวงจื้อเป็นนักปราชญ์ลัทธิเต๋าคนสำคัญอีกคนหนึ่ง  ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำคำสอนของเล่าจื้อมาอรรถาธิบายเพิ่มเติม  และเขาก็ไม่ได้มีประวัติชัดเจน  แม้เหตุการณ์ในบางช่วงของชีวิตจะปรากฏในคัมภีร์จวงจื้อบางบท  แต่นั้นก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดในประวัติชีวิตของท่านในแง่ประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าเชื่อถือ  เพราะแนวการประพันธ์ที่มีลักษณะเป็นนิทานที่มุ่งเสนอปรัชญา  และการเปรียบเทียบประชดประชันมากกว่า
           ข้อมูลในทางประวัติศาสตร์ของจวงจื้อ  ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของ  สุมาเฉียน ได้บันทึกว่า  จวงจื้อมีชื่อว่า  โจว  มีถิ่งกำเนิดในเมืองเหมิง  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณพรมแดนระหว่างมณฑลชานตุงกันโฮนาน  มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์ฮุ่ยอ๋องแห่งรัฐเหลียงหรือเว่ย  และเซวียนอ๋องแห่งรัฐฉี  ดังนั้นจวงจื้อจึงเป็นคนร่วมสมัยเดียวกับเม้งจื้อ  แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งคู่ไม่รู้จักกัน  ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความแตกต่างทางภูมิศาสตร์
           แต่ค่อนข้างจะแน่ชัดว่าจวงจื้อน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับฮุ่ยจื้อ  ซึ่งเป็นนักตรรกวิทยา  ดังจะพบในคัมภีร์จวงจื้อว่าทั้งสองได้ปะทะความคิดกันอยู่เสมอ  ฮุ่ยจื้อเป็นนักการเมืองและเป็นนักปรัชญาเมธีมีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น  ทั้งคู่มีอัธยาศัยที่ถูกกันเพราะต่างชอบปรัชญาชีวิต  และเป็นคู่สนทนาที่มีความรู้พอไล่เลี่ยกัน  แต่การดำเนินชีวิตต่างกันมาก  ฮุ่ยจื้อนั้นทะเยอทะยานที่จะไต่เต้าในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง  แต่จวงจื้อกลับเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้
           เสถียร  โพธินันทะ  อธิบายว่า  จวงจื้อเป็นชาวนครซ้อง  ปัจจุบันคือมณฑลฮ่อน้ำ  เขามีชีวิตร่วมสมัยกับเม่งจื้อ  ปีเกิดของเขายังไม่แน่ชัด  จวงจื้อเป็นนักปรัชญาจีนคนเดียวที่สอนหนักไปในทางสละโลกียวิสัย  เขาเคารพเลื่อมใส่ในเล่าจื้อ  และทำหน้าที่อรรถาธิบาย  ประกาศคติธรรมของเล่าจื้อ  ในส่วนบำเพ็ญพรตเพื่อสำเร็จเต๋าให้พิสดารกว้างขวางออกไป  แต่ด้านการเมืองกลับกล่าวน้อยมาก  แต่มิได้หมายความว่าความรู้ด้านนี้เขาจะน้อย  แต่ตรงกันข้าม  เขาเป็นผู้เรียนรู้เจนจบในวิชารัฐประศาสนศาสตร์  และเศรษฐศาสตร์  วิชาพิชัยสงคราม  และวิชาอื่นๆ เท่าที่มีในสมัยนั้น  ชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักแพร่หลาย  มิตรสหายของเขาเป็นบุคคลในทุกชั้นทุกวัย  ตั้งแต่เจ้าบ้านผ่านเมือง  นายกรัฐมนตรี  ขุนนาง  ลงมาจนถึงเด็กเลี้ยงควาย  แต่เขากลับใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติป่าเขาลำเนาพฤษ์  มีเพียงครั้งเดียวที่เขารับราชการคือ  สมัครเป็นเจ้าพนักงานเฝ้าสวนต้นรัก
บันทึกของสุมาเฉียนยังบอกอีกว่า  จวงจื้อเป็นคนดูแลสวนต้นรัก  ประวัติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสำคัญคือ  เว่ยอ๋องแห่งรัฐฉู่เคยส่งราชทูตพร้อมของกำนัลไปให้จวงจื้อ  เพื่อทาบทามจวงจื้อให้ไปดำรงตำแหน่งเสนาบดี  แต่จวงจื้อก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า  เต่าที่อยู่ในโคลนตมย่อมมีความสุขกว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในพระราชวัง  ซึ่งแม้จะถูกเก็บไว้ในภาชนะและห่อด้วยผ้าอย่างดี  แต่ก็เป็นเต่าตายที่เหลือแต่ซาก  และกระดอง  ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะเป็นเต่าที่อยู่ในโคลนตม  จึงไม่ขอรับตำแหน่งพระราชทานใดๆ ทั้งสิ้น

          เลี่ยจื่อ

         ส่วนเลี่ยจื่อ  นักปราชญ์เต๋าผู้รจนาคัมภีร์เลี่ยจื่อ  ชื่อเลี่ยจื่อนั้นเป็นคำเรียกเชิงยกย่องสำหรับบุคคลที่ชื่อว่า  เลี่ยอี้ว์โค่ว  ซึ่งนับถือกันว่าเป็นปรัชญ์ใหญ่คนหนึ่งของสามความคิดแบบปรัชญาเต๋าที่มีชีวิตอยู่ในสมัยจั้นกั๋ว  ราวศตวรรษที่ 4  ก่อนคริสตกาล  บุคคลผู้นี้ไม่มีประวัติชัดเจน  ผู้รู้บางคนถึงกับไม่เชื่อว่าปราชญ์ผู้นี้จะมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จริง  แม้จะมีการเอ่ยชื่อไว้หลายครั้งในเอกสารโบราณ
           ต้นฉบับภาษาจีนของคัมภีร์เลี่ยจื่อที่ตกทอดมาแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้  เป็นฉบับที่จังจั้นปราชญ์สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกรวบรวม  และทำเชิงอรรถเอาไว้
 

ไม่มีความคิดเห็น: