มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ธรรมชาติกับความแปรเปลี่ยนในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง

ก่อนกล่าวถึงธรรมชาติและความแปรเปลี่ยนในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง  จะขอแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของจารีตการคิดระหว่างคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงกับคัมภีร์อี้จิง  ดังที่คัมภีร์อี้จิงได้สะท้อนให้เห็นแล้วถึงโลกทัศน์ของชาวจีนโบราณที่มนุษย์สามารถเข้าถึงธรรมชาติด้วยการสังเกตแบบแผนการแปรเปลี่ยนในธรรมชาติจนสามารถรวบรวมออกมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ คล้ายกับที่ปรัชญาตะวันตกเรียกมโนทัศน์นี้ว่า “Law  of  Nature”  หรือกฎธรรมชาติ  แต่แนวคิดในอภิปรัชญาจีนนั้น  มโนทัศน์ “Lawgiver”  หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับผู้สร้างธรรมชาติไม่ได้มีความเป็นบุคคลเหมือน  พระเจ้า (Personalized  God)  เช่น  ในอภิปรัชญาของตะวันตกเลย
           มโนทัศน์ทางอภิปรัชญาของจีนเกี่ยวกับบ่อเกิดแห่งจักรวาล  คือ  มโนทัศน์เกี่ยวกับสิ่งสัมบูรณ์สูงสุดที่ให้กำเนิดสรรพสิ่ง  โดยเริ่มมีการกล่าวถึงว่า  คือ  ไท่ชี่ (the  Great  Vital  Energy)  ในคัมภีร์อี้จิง  เรื่อยมาจนถึงการกล่าวถึง  เต๋า  (the  Way)  ในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง  แม้สิ่งทางอภิปรัชญา (Metaphysical  Entity)  ทั้งสองนี้จะมีนัยความหมายบางอย่างส่อให้เห็นว่าแตกต่าง  เช่น  อาจมองได้ว่า  ไท่ชี่  หมายถึง  พลังชีวิตของจักรวาลที่พอจะมีความเป็นรูปธรรมอยู่บ้าง  ส่วน  เต๋า  เป็นคำแทนสิ่งเร้นลับนามธรรมที่ไม่อาจสื่อถึงได้ด้วยภาษา  มีความหมายในเชิงอธิบายวิถีการดำเนินไปของสรรพสิ่งมากกว่าที่จะระบุถึงสิ่งใดอย่างตายตัว  แต่ยังมีลักษณะบางอย่างที่อาจพิจารณาได้ว่าทั้ง  ไท่ชี่  และ  เต๋า  นี้มีความสำคัญต่อกัน  นั่นคือการมีลักษณะเป็นบ่อเกิดของ
สรรพสิ่ง  และในขณะเดียวกันก็ดำรงอยู่ในสรรพสิ่งด้วย  และลักษณะการให้กำเนิดธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนแบบทวิลักษณะ (Duality)  ทั้งสองคัมภีร์ต่างก็มีความเห็นร่วมกัน  ดังในบทที่  42  ของคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง  กล่าวถึง  เต๋า  ว่าเป็นบ่อเกิดของธาตุอินและหยางที่ดำรงอยู่คู่กัน  และจากธาตุอินและหยางดังกล่าว  ก็นำไปสู่การมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลเช่นเดียวกับหลักการของธรรมชาติที่อธิบายไว้ในคัมภีร์อี้จิง
              
               เต๋าให้กำเนิดแก่หนึ่ง
               จากหนึ่งเป็นสอง
               จากสองเป็นสาม
               จากสามเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล
               จักรวาลที่ถูกสร้างสรรค์
               ประกอบด้วย หยัง  อยู่ด้านหน้า
               หยิน (อิน) อยู่ด้านหลัง
               สิ่งหนึ่งขาวสิ่งหนึ่งดำ
               สิ่งหนึ่งบวกสิ่งหนึ่งลบ
               ทั้งสองสิ่งผสมผสานกัน
               จนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว[1]
         
          มโนทัศน์เรื่อง  เต๋า  บ่อกำเนิดสรรพสิ่งและอาการของธรรมชาติที่เหลาจื่อเสนอมีบทบาทสำคัญต่อหลักปรัชญาและหลักจริยศาสตร์ของจีนมาก  เพราะถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่คลี่คลายมาจากกระแสความความเชื่อเดิมอันเน้นการเซ่นสรวงบูชา  การพยากรณ์  มาเป็นการไตร่ตรองทางปรัชญา  และยังแสดงถึงความพยายามที่จะสืบทอดจารีตการคิดในอดีตที่เต็มไปด้วยมโนทัศน์ทางอภิปรัชญา  โดยมิได้ทิ้งมิติทางอภิปรัชญาของยุคก่อนหน้าไปเสียทีเดียว  ในด้านอุดมคติของคัมภีร์  ดังที่อาจารย์วิง-ซิท  ชาน (Wing-tsit-Chan)  กล่าวไว้ว่า  จุดสำคัญสุดของข้อเสนอทางปรัชญาของเหลาจื่อก็คือการเสนอให้  เป็นอิสระจากอันตรายทั้งปวงโดยตลอดช่วงชีวิตของตน[2] ทำให้เห็นได้ว่าคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงมีอุดมการณ์ชีวิตคล้ายคลึงคัมภีร์อี้จิง  นั่นคือการให้ค่าแก่ชีวิตพยายามแสวงหาหนทางในการรักษาชีวิตให้เป็นปกติสุขตามธรรมชาติ
มีต้นกำเนิดแห่งจักรวาล
               อันอาจถือได้ว่าเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง
               จากต้นกำเนิดนี้เราก็อาจรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
               เมื่อรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถสงวนรักษาต้นกำเนิดไว้ได้
               ดังนั้นตลอดชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติดังนี้
               ย่อมรอดพ้นจากภัยทั้งปวง..

เทียบกับแนวคิดในคัมภีร์อี้จิงที่กล่าวว่า
               
               ถึงแม้ว่าเราไม่อาจห้ามสายน้ำให้หยุดไหล
               ห้ามสายลมให้หยุดพักได้
               แต่ถ้าเราเรียนรู้จากธรรมชาติ
               ประสานตนให้สอดคล้องกับความแปรเปลี่ยน
               เราก็สามารถหลีกเลี่ยงจากข้อผิดพลาดอันยิ่งใหญ่
               และดำรงอยู่ได้อย่างปรกติสุข[1]
         
           กล่าวโดยสรุปได้ว่า  จารีตการคิดที่คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงรับอิทธิพลมาจากจารีตการคิดยุคก่อนหน้าก็คือ  การสร้างทฤษฎีทางจริยศาสตร์  โดยใช้กรอบอ้างอิงจากโลกธรรมชาติอันเชื่อว่ายิ่งใหญ่กว่าและดีงามกว่ากรอบสังคมวัฒนธรรม  ทางออกในการแก้ปัญหาสังคมของเหลาจื่อ 
          ประการแรก  คือ  การเสนอให้มนุษย์ตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ  โดยเน้นให้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของเต๋าและธรรมชาติ  เพื่อให้รู้สึกว่าตนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ  ส่วนหนึ่งในจักรวาลที่ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต  มนุษย์ควรจะดำรงอยู่อย่างสงบเสงี่ยมและกตัญญูต่อธรรมชาติ  ประสานตนเข้าร่วมกับวิถีแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และดีงาม  ไม่ควรอหังการล่วงเกินวิถีที่ธรรมชาติดำเนินไปจนทำลายธรรมสัมพันธภาพที่ดำรงอยู่  เพราะการที่มนุษย์เข้าไปก้าวก่ายธรรมชาติ  เพื่อสนองความต้องการที่เกินเลยของตน  ในที่สุดย่อมทำให้ตนเองได้รับความเสื่อมสลายและหายนะตามมาในที่สุด  ดังที่คัมภีร์กล่าวว่า
               
               มีบางคนที่คิดจะยึดครองโลก
               และจัดการเปลี่ยนแปลงไปตามที่ตนปรารถนา
               ข้าพเจ้าทราบดีว่าเขาคงทำไม่สำเร็จเป็นแน่
               ด้วยโลกนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์
               มนุษย์ไม่อาจยุ่งเกี่ยวบิดเบือน[1]
          
           ประการที่สอง  คือ  คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงแสดงนัยไว้ด้วยว่าการเข้าใจ  เต๋า  บ่อเกิดแห่งสรรพสิ่งและความแปรเปลี่ยน  ก็คือการรู้ถึงสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  ด้วยความรู้ดังกล่าว  ย่อมนำไปสู่แนวทางในการดำเนินชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ  และท้ายที่สุดจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างมนุษย์ได้  ตามนัยนี้  ดังจะเห็นได้ต่อไปว่า  ในลักษณะการแปรเปลี่ยนต่างๆ ของเต๋าจะมีคุณค่าทางจริยธรรมแฝงอยู่ด้วย  การวิเคราะห์มโนทัศน์ลักษณะการแปรเปลี่ยนของเต๋าหรือกระบวนการดำเนินไปของธรรมชาติในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง  จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับการพิจารณา  เพื่อดูว่าอาการของความแปรเปลี่ยนเหล่านี้จะนำไปสู่การปรับปรุงมนุษย์  และสังคมตามอุดมคติของเหลาจื้อได้อย่างไรบ้าง  ในบทที่หนึ่งเปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงลักษณะของเต๋าไว้ดังนี้
               
               เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
               ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
               เต๋านั้นมิอาจอธิบาย  และมิอาจตั้งชื่อ
               เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักทำให้ผู้อื่นรู้
               ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า เต๋า ไปพลางๆ
               เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าดิน
               เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่ง
               ดำรงตนอยู่ในความไร้สภาวะ
               จึงทราบบ่อเกิดของจักรวาล
               ดำรงตนอยู่ในสภาวะ
               ย่อมแลเห็นปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์
               ทั้งความมีและไร้มีบ่อเกิดแห่งเดียวกัน
               แต่แตกต่างเมื่อปรากฏออก
               บ่อเกิดนั้นสุดลึกล้ำ
               ความลึกล้ำสุดแสนนั้น
               คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพสิ่งชีวิต[2]
ตามที่คัมภีร์กล่าวไว้จะเห็นได้ว่า  เต๋า  คือบ่อเกิดของสรรพสิ่ง  เต๋า  ในความหมายนี้คือสิ่งเร้นลับที่มีศักยภาพในการแปรเปลี่ยนออกมาเป็นทั้งความมีสภาวะและความไร้สภาวะ  หากมนุษย์สามารถดำรงตนให้อยู่ในสัมพันธภาพระหว่างความมีสภาวะและความไร้สภาวะ  ก็สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์และแปรเปลี่ยนออกไปจากเต๋าในลักษณะต่างๆ กันออกไป  อันเหลาจื่อที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การรู้แจ้งในที่สุด
           อย่างไรก็ดีในบางบทของคัมภีร์ก็มีการกล่าวไว้ว่า  เต๋า  นั้นไม่มีการแปรเปลี่ยน  ซึ่งอาจทำให้คัมภีร์มีเนื้อหาขัดกันเองได้  เพราะบางบทก็มีการกล่าวถึงเต๋าว่ามีการแปรเปลี่ยน  จึงควรจะมาพิจารณาปัญหานี้ก่อน  เพื่อดูว่าคัมภีร์มีเนื้อหาที่ขัดแย้งกันเองหรือไม่  ดังจะเห็นได้ว่าในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงทั้ง  81  บท  มีอยู่เพียงบทเดียวที่กล่าวอย่างชัดเจนว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ไม่แปรเปลี่ยน

               ก่อนการดำรงอยู่ของฟ้าและดิน
               มีบางสิ่งบางอย่างมืดมัวเคลือบคลุม
               เงียบงันโดดเดี่ยว
               อยู่เพียงลำพัง  ไม่แปรเปลี่ยน
               เป็นอมตะหมุนเวียนไม่หยุดยั้ง
               มีค่าควรเป็นมารดาของสรรพสิ่ง..[1]
          
           ตามความหมายของบทนี้ก็อาจทำให้ตีความได้ว่าเต๋านั้นเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง  แต่ตัวเต๋าไม่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งอาจทำให้ฟังดูขัดแย้งกันเอง  อย่างไรก็ดี  ผู้วิจัยมองว่า  ความไม่แปรเปลี่ยน  ของเต๋านั้นอาจมีได้  3  แง่มุม
           แง่มุมที่หนึ่ง  คือ  เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่แปรเปลี่ยน  ในเวลาก่อนที่จะมีสรรพสิ่งขึ้นในโลกขึ้น  ดังในบทตัวอย่างที่ยกมาก็มีการกำหนดช่วงเวลาให้รู้ไว้ว่า  ก่อนการดำรงอยู่ของฟ้าดิน  มีบางสิ่งไม่แปรเปลี่ยน  แต่เนื่องจากในเวลาปัจจุบันนั้นมีฟ้าดินเกิดแล้ว  ตามตรรกะก็ไม่จำเป็นต้องตีความว่า  เต๋ายังคงไม่แปรเปลี่ยนเหมือนเดิม  เต๋าอาจจะแปรเปลี่ยนไปก็ได้หลังจากที่มีฟ้าดินแล้ว
           แง่มุมที่สอง  คือ  ความไม่แปรเปลี่ยนในแง่กฏเกณฑ์ของเต๋าที่ดำเนินอยู่ในธรรมชาติ
              
               ...กลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน
               ยอมค้นพบกฏเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยน
               เมื่อทราบกฏเกณฑ์อัมไม่แปรเปลี่ยน
               จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้รู้แจ้ง..[2]
ความไม่แปรเปลี่ยนในแง่นี้อาจมองได้ว่ามิได้หมายถึง  เต๋าที่ไม่แปรเปลี่ยน  หากแต่หมายถึงตัวหลักการหรือทฤษฎีเกี่ยวกับเต๋าที่เหลาจื่อเสนอนั้นเป็นสัจธรรมที่ไม่แปรเปลี่ยน  เนื่องจากคำในภาษาจีนมีความหมายที่ลื่นไหล[1] ยิ่งถ้าเป็นภาษาจีนในคัมภีร์โบราณด้วยแล้วยิ่งต้องอาศัยการตีความอย่างมาก  ในหนังสือ  “Lao  Tzu: Text, Notes  and  Comments”  เฉิน  กู่-อิง  อธิบายความไม่แปรเปลี่ยนในที่นี้ว่าคือ  “constancy”  ที่หมายถึง  ความไม่แปรเปลี่ยนในตัวหลักการ  มากกว่าที่จะหมายถึงสิ่งที่ตัวการนั้นกล่าวถึง  (This  term  “constancy”  refers  to  the  unchanging  principle  which  maintain  the  processes  of  movement  and  changes  in  the  universe.)[2]
           ดังนั้น  ความไม่แปรเปลี่ยนในที่นี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับสารัตถะของเต๋าแต่อย่างไร  หากแต่หมายถึงว่า  สิ่งที่ไม่แปรเปลี่ยน  คือ  หลักการของความแปรเปลี่ยน  นั้นเอง
           แง่มุมที่สาม  คือ  ความไม่แปรเปลี่ยนในความเป็นเต๋า
              
               เต๋าอันยิ่งใหญ่นั้นไหลบ่าท่วมท้นไปทุกหน..
               เต๋าถนอนและบำรุงเลี้ยงสรรพสิ่ง..
               ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่าเต๋าเป็นสิ่งเล็ก
               และจากการเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่ง
               ก็อาจกล่าวได้อีกว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่[3]
          
           จากความดังกล่าวไม่ว่าเต๋าจะอยู่ในสิ่งเล็กหรือสิ่งใหญ่  เต๋าก็ยังคงเป็นเต๋าไม่แปรเปลี่ยน  ความไม่แปรเปลี่ยนในแง่นี้  เกิดจากการที่เต๋าเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งในจักรวาล  ทุกสิ่งในจักรวาลย่อมต้องมีความเป็นเต๋าอยู่ด้วย  ความหมายของข้อความนี้จึงไม่ได้หมายความว่าเต๋าเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนหรือไม่แปรเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด  หากแต่ทำให้หมายความว่า  ไม่ว่าสรรพสิ่งจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นอย่างไรก็ตาม  เอกภาพของเต๋าก็จะยังคงดำรงอยู่เสมอ  เต๋าก็จะยังเป็นเต๋าอยู่นั้นเอง  จึงเห็นได้ว่าความไม่แปรเปลี่ยนของเต๋าที่กล่าวมาทั้งสามแง่มุมไม่ได้ขัดกับบทอื่นๆ ของคัมภีร์อีกมากมายที่มักจะกล่าวถึงความแปรเปลี่ยนของเต๋า


[1] โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับการอภิปรายเรื่องความหมายของคำในภาษาจีนใน Chad  Hansen,”Fa (Standards : Laws) and  Meaning  in  Chinese  Philosophy,” in  Philosophy  East & West, vol. 44,no.3  (Jult  1994):435-488.
[2] Ch’en Ku-ying, Lao  Tzu : Text, Notes  and  Comments,p.112.
[3] พจนา  จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า, บทที่ 34, หน้า 105.


[1] พจนา  จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า,บทที่ 25,หน้า 85.
[2] พจนา  จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า,บทที่ 16,หน้า 70.


[1] พจนา  จันทรสันติ, วิถีแห่งเต๋า,บทที่ 29,หน้า 94.
[2] พจนา  จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า,บทที่ 1,หน้า 43.


[1] Jonh  Blofeld, I  Cking : The  Book  of  Change  (London : Guernsey  Press,1986),p.31.


[1] พจนา  จันทรสันติ,วิถีแห่งเต๋า,(กรุงเทพ:สำนักพิมพ์เคล็ดไทย),2539.บทที่ 42,หน้า 124.
[2] Wing-tsit  Chan,”The  Story  of  Chinese  Philosophy”  in  The  Chinese  mind : Essentials  of  Chinese  Philosophy  and  Culture (Honolulu : The  University  Press  of  Hawaii), 1977,p.41.

ไม่มีความคิดเห็น: