มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ที่มาของปรัชญาเต๋า

ที่มาของปรัชญาเต๋า[1]
 
           ก่อนกำเนิดปรัชญาเต๋านั้นชาวจีนเคยนับถือธรรมชาติ เพราะเขาสังเกตเห็นว่าธรรมชาติมีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
          1. ความเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นระบบ เช่น การเกิดขึ้นของกลางวันและกลางคืน การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของฤดูกาล ทำให้เกิดสภาพอากาศที่หลากหลายกันออกไปในแต่ละปี
           2. มีการเกิดและดับตลอดเวลาเช่นความสว่างไสว และความมืดของพระจันทร์ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม
           3. ความเป็นเอกภาพเดียวกันแม้นว่าเราจะเห็นว่า ธรรมชาติที่ปรากฎแก่ตามีความหลากหลายนับไม่ถ้วน ทำให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่างก็คล้ายคลึง บางอย่างก็ตรงกันข้ามกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกภาพเดียวกันด้วยสาเหตุดังได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงทำให้นักปราชญ์จีนหลายท่านพยายามค้นหาความลี้ลับของธรรมชาติ ทำให้แนวคิดในเรื่องวิญญาณและผีได้แทรกเข้ามาปะปน จนเกิดความคิดที่ว่ามีวิญญาณแฝงอยู่ในธรรมชาติ วิญญาณที่ว่านี้มีตั้งแต่วิญญาณที่อยู่ในท้องฟ้าซึ่งเรียกว่าเทพแห่งฟ้า หรือเทพแห่งสวรรค์ (ภาษาจีนมีคำเรียกพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ว่า "เทียน") ไล่ลงมาจนกระทั่งถึงเทพที่อยู่บนพื้นดิน ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร แม่น้ำ ฯลฯ ลักษณะความเชื่อเช่นนี้เป็นแบบพหุเทวนิยม (Polytheism) กล่าวคือ เทพเจ้าแต่ละองค์ต่างมีฤทธิ์อำนาจ ถ้ามนุษย์คนใดต้องการบรรลุถึงซึ่งความปรารถนาของตน จะต้องกราบไหว้เซ่นสรวงเทพเจ้าแต่ละองค์แล้วแต่กรณี บาง
กลุ่มชนอาจจะยกย่องเทพเจ้าองค์หนึ่งให้ยิ่งใหญ่กว่าองค์อื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันเทพองค์ที่ยิ่งใหญ่นี้อาจจะถูกลดความสำคัญลงสำหรับอีกกลุ่มชนหนึ่ง
           อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชาวจีนในสมัยโบราณนั้นนิยมยกย่องเทพแห่งสวรรค์ให้เป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น ๆ เป็นเทวาติเทพที่ต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ และการทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชานั้นสามัญชนไม่สามารถกระทำได้ นอกจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นโอรสแห่งสวรรค์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นรัฐพิธีที่ใหญ่โตจะละเว้นมิได้เลย ในการเซ่นไหว้แต่ละครั้งนิยมฆ่าสัตว์นำมาสังเวยพร้อมกับข้าวปลาอาหาร รวมทั้งสุรา ที่มีรสเป็นเลิศ การทำพิธีกรรมแต่ละครั้งจะมีความประณีตในการถวายของบูชา เพราะมีผลต่อความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏร์ ปีใดที่เกิดความอดอยากแห้งแล้ง ยิ่งต้องมีการเซ่นไหว้เป็นพิเศษ มิฉะนั้นแล้วพวกที่คิดร้ายต่อราชบัลลังก์อาจยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการล้มล้างอำนาจองกษัตริย์เพราะเหตุที่ว่าเป็นผู้ทำให้ฟ้าพิโรธไม่เป็นที่โปรดปรานอีกต่อไป และผู้ที่เข้ามาครอบครองคนใหม่ อาจจะอ้างถึงความชอบธรรมในการล้มล้างราชบัลลังก์กษัตริย์ของจีน จึงมีหน้าที่เป็นศาสนาจารย์โดยปริยาย อำนาจในทางศาสนาจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองสำหรับประชาชนซึ่งไม่สามารถติดต่อกับพระเจ้าแห่งสวรรค์ได้ดังเช่นกษัตริย์ พวกเขาจะบูชาเทพบริวารองค์อื่น ๆ และวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อสร้างความอบอุ่นใจและความมั่นคงในชีวิต ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีศาลเจ้าให้กราบไหว้ และในแต่ละบ้านก็จะมีป้ายสถิตดวงวิญญาณของบรรพบุรุษความเชื่อของชาวจีนในเรื่องวิญญาณ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรู้จักและเข้าใจในธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าใจในชีวิตของตนเอง จึงแสดงออกมาในรูปของความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (Animism)
           ต่อมาเมื่อความรู้ได้พัฒนาขึ้นความเชื่อในเรื่องพระเจ้าค่อย ๆ จางลง นักปราชญ์โบราณ ของจีนได้ค้นพบกฎแห่งธรรมชาติที่ครอบงำความเป็นไปของเอกภพ และแสดงออกมาในรูปของพลังอำนาจทั้ง 2 ด้าน ที่เรียกว่าหยินและหยาง พลังหยินเป็นพลังลบที่แสดงออกถึงความมืด ความลึกลับ ความหนาวเย็น ความเปียกชื้น และความเป็นหญิง พลังนี้ปรากฏอยู่ในดิน พระจันทร์ และเงามืดส่วนพลังหยางเป็นพลังบวก แสดงออกถึงความสว่าง ความอบอุ่น ความแห้ง การสร้างสรรค์ และความเป็นชาย พลังนี้ปรากฏอยู่ในพระอาทิตย์ และสิ่งที่ส่องแสงสว่าง ในเอกภพนี้จะมีพลังทั้งสองอย่างผสมกันในสัดส่วนที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ถ้าพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปตามสัดส่วนก็จะทำให้ผลที่เกิดขึ้นวิปริตไปโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพได้ถูกสร้าง ขึ้นมาด้วยพลังอำนาจทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่นักปราชญ์จีนในสมัยโบราณได้พยายามที่จะจัดระบบของมันออกมาเป็นกลุ่ม ๆ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ซึ่งจำแนกออกมาได้เป็น 5 ธาตุ คือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุไม้ ธาตุโลหะ (ซึ่งมุ่งหมายเฉพาะธาตุทอง) และธาตุดิน
 
อย่างไรก็ตามแม้นว่านักปราชญ์จีนในสมัยต่อมาจะสอนให้มนุษย์มีความเข้าใจธรรมชาติ โดยใช้ปัญญามากกว่าความงมงาย ผู้ที่จะเข้าใจคำสอนเช่นนี้ได้ก็คงมีแต่ผู้มีปัญญาเท่านั้น คนจีน โดยทั่ว ๆ ไปยังคงนับถือวิญญาณและเทพเจ้า เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปคำสอนของปราชญ์คงเหลือไว้ให้ปัญญาชนศึกษาและขบคิดต่อไป ส่วนสามัญชนยังคงยึดถือในความเชื่อเดิม ๆ เทพเจ้ายังคงได้รับการยกย่องบูชาถูกยึดถือเป็นที่พึ่งต่อไป
           ปรัชญาของท่านเหลาจื๊อก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้เช่นกัน กล่าวคือ คำสอนของท่านที่มุ่งให้บุคคลเข้าในในธรรมชาติอย่างผู้มีปัญญา และดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่สุด แต่พอวันเวลาได้ผ่านพ้นไปหลักคำสอน และคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงได้ถูกเสริมเติมแต่ง เน้นหนักในทางอภินิหารและเวทมนต์ ทำให้ปรัชญาเต๋าได้เปลี่ยนรูปมาอยู่ในลักษณะของลัทธิศาสนาที่นำเอาความเชื่อในเรื่องหยินและหยางมาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนที่เคยบูชาพระเจ้าในธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อในทางไสยศาสตร์และการเล่นแร่แปรธาตุ
           บุคคลแรกของลัทธิเต๋าที่เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิคือนักพรต จางเต๋าหลิง แห่งภูเขาหลุ่งหัวซาน มณฑลเสฉวน นักพรตท่านนี้เคยประกาศว่าตนเองสำเร็จทิพย์ภาวะติดต่อกับเทพเจ้าได้ ท่านได้ยกให้ท่านเหลาจื๊อเป็นศาสดา และยกย่องคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็นสูตรของศาสนา พร้อมทั้งเขียนคัมภีร์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนหนักไปในเรื่องของไสยศาสตร์เวทย์มนต์ การเล่นแร่แปรธาตุ และการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเชื่อกันว่าพรตผู้นี้มีทิพย์อำนาจมากสามารถติดต่อกับวิญญาณต่าง ๆ ได้ รวมทั้งติดต่อกับท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อ และมีความสามารถในการปราบปรามเหล่ามารร้ายภูติผีปีศาจได้ด้วยดาบศักดิ์สิทธิ์ซึ่งท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อได้มอบให้ สานุศิษย์จึงยกย่องท่านเป็น "เทียน ฉี เช็ง อิ เต๋า" (T'ien - Shih Cheng - Yi Tao) ซึ่งทอมสัน (Laurence G. Thompson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "วิถีทางแห่งเอกภาพอันสมบูรณ์ของปรมาจารย์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์" (Way of Perfect Unity of the Master Designated by Heaven.) หรือตำราหลายเล่มใช้คำว่า "อาจารย์แห่งสวรรค์" (Celestial Teacher) ซึ่งต่อมาเจ้าลัทธิทุกคนได้ใช้สมณะศักดิ์นี้กันตลอดมา
ความไม่ธรรมดาของท่านจางเต๋าหลิงนั้นมีผู้เล่ากันมากมาย เช่น ท่านได้รับการบวชเป็นนักพรตโดยวิญญาณของท่านเหลาจื๊อเป็นผู้บวชให้ ท่านสามารถค้นพบสูตรของความเป็นอมตะท่านจึงมีพลังชีวิตที่เป็นทิพย์ ท่านมีดาบศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถปราบปีศาจร้ายแม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ และสุดท้ายเชื่อกันว่าท่านขึ้นสวรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่โดยขี่เสือขึ้นไปทางยอดเขาหลุงหัวซานท่านจางเต๋าหลิง มีอายุยืนถึง 120 ปีหลังจากนั้นทายาทสกุลจางได้สืบทอดตำแหน่งกันต่อมาตั้งแต่ลูกจนถึงหลาน ลูกหลานของท่านมีส่วนทำให้ลัทธิเต๋ามีความเป็นระบบมากขึ้น นิกายนี้จึงได้ชื่อว่า นิกายเช็งอิ (Cheng - Yi) ซึ่งเน้นในรหัสยลัทธิเชื่อถือโชคลางอภินิหารการเข้าทรงและ คาถาอาคมต่าง ๆ นักบวชในนิกายนี้มีครอบครัวได้เช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไปในขณะเดียวกันแนวทางเดิมของท่านเหลาจื๊อยังคงมีอยู่โดยมีผู้สืบทอดพยายามค้นหาความจริงภายในด้วยการดำเนินชีวิตตามแนวทางของท่านปรมาจารย์ พวกนี้ถูกเรียกว่าพวก "ชวน เชน เจียว" (Ch'uan - chen Chiao) ซึ่ง ทอมสัน (Laurence G. Thomson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "การสืบทอดการบรรลุสิ่งสัมบูรณ์" (Tradition of Absolute Attainment) พวกนี้มีแนวทางชีวิตคล้ายกับชาวพุทธและนักพรตก็ดำเนินชีวิตเหมือนกับพระในพุทธศาสนา ต้องสละโสด งดน้ำเมา รับประทานอาหารามังสวิรัติ และที่เคร่งครัดมาก ๆ อาจต้องไปอยู่ตามถ้ำในเขาในป่าวิวัฒนาการของลัทธิเต๋ายังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ถ้าเราศึกษาคำสอนในลัทธิเต๋า เราอาจจะแปลกใจที่เห็นคำสอนในพุทธศาสนาหลายเรื่องได้เข้าไปแทรกอยู่ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตในยุคสมัยที่พุทธศาสนามหายานได้เข้าไปเผยแพร่ในจีน ลัทธิเต๋ามีส่วนอย่างมากที่ช่วยตีความคำสอนในพุทธศาสนาเป็นภาษาจีน และชาวพุทธอินเดียที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในจีน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องภาษา ได้ใช้วิธียืมคำบางคำของเต๋ามาช่วยในการอธิบายแนวคิดของพุทธศาสนา ยิ่งนานวันเท่าใดอิทธิพลของพุทธศาสนาก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อลัทธิเต๋ามากขึ้น ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่เพียงแต่ในด้านคำสอนเท่านั้น แม้แต่รูปแบบความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ก็ถูกนำไปปรับปรุงใช้จนกระทั่งนักบวชเต๋าที่เคยถือพรตตามถ้ำภูเขา ได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในอาราม และมีการถือโสดเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา อย่างเช่นนิกายชวนเชน เป็นต้น
           ลัทธิเต๋าเคยรุ่งโรจน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีนในปี พ.ศ. 2492 ได้ออกคำสั่งขับไล่นักบวชศาสนาต่าง ๆ นานา เช่น ไม่อนุญาตให้ทำพิธีกรรมทางศาสนา และไม่ให้เผยแพร่ศาสนา ด้วยวิธีใดทั้งสิ้น ผู้นับถือลัทธิเต๋าในแผ่นดินใหญ่จึงเหลือน้อยมาก เพราะหลายคนได้อพยพไปอยู่ไต้หวันและถิ่นอื่น ๆ จนกระทั่งหลังจากที่ประธานเหมาได้สิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2520 การผ่อนคลายทางศาสนาของจีนแผ่นดินใหญ่จึงดีกว่าแต่ก่อน เพราะประชนชนสามารถประกอบพิธีกรรมได้สำหรับชาวเต๋าที่อพยพไปอยู่ไต้หวันได้นำเอาความเชื่อและลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เคยกระทำเมื่อสมัยอยู่ประเทศจีนไปด้วย เป็นเหตุให้มีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสมาคม การพิมพ์หนังสือธรรมะและการจัดพิธีถือศีลกินเจ นอกจากนี้ในบางนิกายมีเสรีภาพที่จะทำพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การทรงเจ้า การทำพิธีไล่ผีร้าย การปลุกเสกของขลังและการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญทางศาสนา ด้วยความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของผู้นับถือลัทธิเต๋าในไต้หวัน เป็นเหตุให้ทางราชการได้ยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดีตราบจนทุกวันนี้



[1] นิดา  ขำเขียว,ศาสนาเปรียบเทียบ, ลัทธิเต๋า.2543.หน้า215.

ไม่มีความคิดเห็น: