มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ปรัชญาเต๋า คัมภีร์บทที่ 1 ประตูแห่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลาย

ปรัชญาเต๋า[1]

คัมภีร์บทที่ 1  ประตูแห่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลาย

           เต๋าที่เรียกขานได้นั้น   มิใช่เต๋าที่นิรันดร์   ชื่อที่เรียกขานได้นั้น  ก็มิใช่ชื่อที่นิรันดร์  ไม่มีเป็นชื่อการเริ่มแรกของสรรพสิ่ง  มีเป็นชื่อมารดาของสรรพสิ่ง  ดังนั้นเมื่อมันอยู่ในสภาพไม่มีเสมอ  เราสามารถสังเกตความยอดเยี่ยมของมันเมื่อมันอยู่ในสภาพไม่มีเสมอ  เราสามารถสังเกตความยอดเยี่ยมของมันเมื่อมันอยู่ในสภาพที่มีเสมอ  เราสามารถสังเกตขอบเขตของมันสองอย่างนี้ออกมาจากแหล่งเดียวกัน  แต่ชื่อไม่เหมือนกัน  เรียกว่า  มันลึกล้ำเหมือนกัน  มันลึกล้ำและลึกล้ำมาก เป็นประตูแห่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลาย

           ความหมาย

         เต๋าที่มีรูปร่างเป็นตัวตน  ที่เราสามารถเรียกขานได้  มิใช่เต๋าที่อยู่ชั่วนิรันดร์  ชื่อที่เรียกขานได้นั้น  ก็มิใช่ชื่อที่นิรันดร์  ความไม่มีหรือความว่างเปล่า  เป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง  มีหรือสิ่งที่มีรูปร่างเป็นตัวตนนั้น  ให้กำเนิดสรรพสิ่ง  สิ่งที่ไม่มีหรือสิ่งที่ว่าเปล่านั้น  เราสามารถสังเกตเห็นความยอดเยี่ยมของมัน  คือมันมีพลัง  มีประโยชน์และมีความสร้างสรรค์อย่างมหัศจรรย์  สิ่งที่มีรูปร่างเป็นตัวตน  เราสามารถสังเกตขอบเขตการเปลี่ยนแปลงของมัน  มันเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบมีขอบเขต  สิ่งที่ว่างเปล่าและสิ่งที่มีรูปร่างเป็นตัวตน  ถึงแม้ชื่อไม่เหมือนกัน  คือมันมีชื่อและไม่มีชื่อ  แต่มันมาจากแหล่งเดียวกัน  คือ  เต๋า  นั่นเอง  ทั้งสองอย่าง  นี้เป็นสิ่งที่ลึกล้ำเหมือนกัน  เป็นประตูสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลาย  หมายถึงสิ่งที่ยอดเยี่ยมต้องผ่านประตูนี้ทั้งนั้น  ที่จริงแล้วก็คือเต๋า  ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและเป็นกฎรวมการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งนั่นเอง

           สรุป
            1.  เต๋าดำรงอยู่สองลักษณะ  คือ  ลักษณะว่างเปล่า  ไม่มีตัวตน  ที่จริงแล้วก็คือ  พลังเดิมของจักรวาลนั่นเอง  ซึ่งเต๋าหรือพลังเดิมของจักรวาลนี้  เป็นแหล่งกำเนิดสรรพสิ่ง  และอีกลักษณะหนึ่ง  ก็คือ  มีรูปร่างเป็นตัวตน  มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างมีขอบเขตมีระบบ
                เหมือนดังเหล่าจื้อกล่าวไว้ในบทที่  42  เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง  หนึ่งให้กำเนิดสอง  สองให้กำเนิดสาม  สามให้กำเนิดสรรพสิ่ง  สรรพสิ่งแบกหยินและอุ้มหยาง  รวมพลังเข้าด้วยกัน  เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง  หมายถึง  เต๋ากำเนิดเป็นพลังเดิมของจักรวาล  หนึ่งกำเนิดสอง  หมายถึง  พลังเดิมของ
จักรวาลกำเนิดเป็นหยินและหยาง  สองกำเนิดสาม  หมายถึง  หยิน  และหยาง  กำเนิดเป็นรูปร่างมีตัวตัน  สามกำเนิดสรรพสิ่ง  สิ่งที่เป็นตัวตนกำเนิดเป็นสรรพสิ่ง  และสรรพสิ่งนั้นประกอบด้วยพลังของหยินและหยาง
            2.  เต๋าที่ว่างเปล่านั้นยอดเยี่ยมมาก  คือ  มันมีพลังมีประโยชน์และมีความสร้างสรรค์อย่างมหัศจรรย์  สรรพสิ่งที่นับไม่ถ้วนในจักรวาล  มีรูปร่างสีสันที่แตกต่างกัน  มีพลัง  และสมรรถภาพอย่างยอดเยี่ยมในการดำรงอยู่  ล้วนเกิดจากความสร้างสรรค์ของเต๋า  หรือพลังเดิมของจักรวาลที่ว่างเปล่าทั้งสิ้น
            สมัยโบราณผู้คนเห็นความสำคัญของเต๋าหรือพลังที่ว่าเปล่าเป็นอย่างยิ่ง  ในชีวิตประจำวันจะอบรม  ฝึกฝนสภาพจิตให้ว่างเปล่า  ปลดปล่อยจากการรบกวนทางวัตถุ  และร่างกายทำให้จิตใจสงบเป็นธรรมชาติ  มีประโยชน์มากสำหรับชีวิตและสุขภาพ  และการฝึกอบรมจิตเข้าสู่สภาวะว่างเปล่าทำให้พลังเดิมในร่างกายฟื้นตัว  เลือดลมไหลเวียนคล่อง  ทำให้สุขภาพแข็งแรงเป็นการต่อต้านโรคต่างๆ  ได้ดีเยี่ยม
            3.  เต๋าเป็นประตูแห่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลาย  หมายถึง  เต๋า  นอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งแล้ว  ยังเป็นกฎรวมการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง  สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎนี้ทั้งสิ้น  ซึ่งเราสามารถเรียกได้ว่า  กฎวิถีแห่งธรรมชาติเมื่อเราเข้าใจเต๋าหรือกฎวิถีแห่งธรรมชาตินี้แล้ว  เราก็สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งหรือเรื่องราวต่างๆ  ได้ถูกต้อง  ปรับระบบความคิดและการกระทำให้สอดคล้องกับเต๋า  แก้ปัญหาต่างๆ  ได้ถูกต้อง  ประสบชีวิตแห่งความสำเร็จมีความสุขอย่างแท้จริง
 


[1] ชาตรี   แซ่บ้าง.ปรัชญาเต๋า(คัมภีร์เต้าเต๋อ  ฉบับปรับปรุงใหม่).สมุทรปราการ: สนพ.เรือนบุญ,2551.

ไม่มีความคิดเห็น: