มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง

คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง

             ถึงแม้ว่าคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง จะเป็นคัมภีร์โบราณเล่มเล็กที่มีความยาวเพียง  81  บท หรือประมาณ  5,000  ตัวอักษร  แต่ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ที่มีตัวบทเป็นปริศนามากที่สุดในวรรณกรรมของจีน

           ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  เป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องอายุของคัมภีร์  และผู้รจนาคัมภีร์ที่ชื่อ  เล่าจื้อ  ตามแนวความเชื่อดั่งเดิมนั้น  เชื่อกันว่า  คัมภีร์เล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในราวศตวรรษที่  6  ก่อนคริสต์ศักราช  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง  ย่อมน่าเชื่อได้ว่า  คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  น่าจะเป็นงานเขียนทางปรัชญาชิ้นแรกในประวัติศาสตร์จีนด้วย  ซึ่งแน่นอนว่าข้อสันนิษฐานนี้จะสัมพันธ์กับการสืบค้นประวัติของเล่าจื้อ
           แม้จะมีการสันนิษฐานกันว่า  คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  น่าจะถูกเขียนประมาณศตวรรษที่  4  หรือ 3  ก่อนคริสต์ศักราช  แต่นักวิชาการในปัจจุบันส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลา  250  ปี  ก่อนคริสต์ศักราช  และผู้แต่งคัมภีร์ก็น่าจะมีมากกว่าหนึ่งคน  Fung  Yu-Lan  กล่าวว่า  เล่าจื้อและขงจื้ออาจจะเป็นจริง  แต่คัมภีร์อาจจะถูกเขียนขึ้นในเวลาต่อมา
           สำหรับเนื้อหาของคัมภีร์นั้น  อาจกล่าวได้ว่า  มีลักษณะเป็นคัมภีร์ที่ไร้กาลเวลา  ทั้งนี้เพราะไม่มีการอ้างอิงชื่อบุคคล  สถานที่  หรือระยะเวลาในประวัติศาสตร์  ราวกับว่าคัมภีร์นี้กำลังกล่าวถึงสิ่งที่อยู่เหนือ  กาละ  และ เทศะ  ทั้งปวง  มีเพียงการใช้คำแทนตัวว่า  ข้าพเจ้า  ที่มีเพียงไม่กี่บทเท่านั้น  ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ก็มีลักษณะคลุมเครือ  กล่าวถึงภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์มนุษย์  แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า  คัมภีร์นี้จะเป็นคัมภีร์แห่งธรรมที่พ้นโลกออกไป  แต่กลับสามารถตีความ  และเข้าใจในความหมายอื่นได้  ตัวอย่างเช่น  D.C.Lau  ที่แสดงความเห็นว่าคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  เป็นคัมภีร์แห่งการปกครองอย่างแท้จริง  และWing  Tsit  Chan  ที่เห็นว่าคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  ไม่ได้เป็นคัมภีร์สำหรับนักพรตที่หลีกลี้สังคม  แต่เป็นคัมภีร์สำหรับราชาปราชญ์ที่ไม่ได้ละทิ้งโลก  แต่ปกครองโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายยุ่งเกี่ยว  ส่วน  Roger  T.Ames  กล่าวว่า  คัมภีร์
คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  น่าจะเป็นคัมภีร์ที่พูดกับผู้ปกครองเป็นหลักแต่มุ่งหวังให้ทุกคนดำเนินตามรอยวิถีแห่งเต๋า  โดยไม่จำเป็นต้องหลีกลี้สังคม  จุดมุ่งหมายของคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง  น่าจะเป็นไปเพื่อให้ทุกๆ  คนสามารถตระหนักรู้ในตัวตน  และวิถีแห่งธรรมชาติ  เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อม  และสถานการณ์ต่างๆ  ได้อย่างเหมาะสมกับตน
           ส่วนการใช้ภาษาที่คลุมเครือ  และไม่ระบุรายละเอียดในคัมภีร์นั้น  ได้รับการตั้งข้อสังเกตจาก  สุวรรณา  สถาอานันท์  ว่าอาจเป็นเพราะเล่าจื้อนั้นอาจมีความจำเป็นที่ต้องอำพรางตน  เพื่อความปลอดภัย  ด้วยการไม่กล่าวถึงตัวบุคคล  เวลา  สถานที่  อย่างเฉพาะเจาะจง  และเขียนแสดงข้อความจริงราวกับว่าอยู่ห่างไกลจากชีวิตสังคมและประสบการณ์ของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น: