ทั้งเหลาจื้อ และขงจื้อมีชีวิตอยู่ในยุคที่มีเหตุการณ์สับสนวุ่นวาย เนื่องจากการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างเจ้าผู้ครองนคร กระนั้นก็ตามท่านยังแสวงหาสันติสุข โดยกลับไปมีชีวิตทางโบราณที่ดีงามผสมกับธรรมชาติโดยเหลาจื้อเห็นว่า
“เบื้องหลังทุกสิ่งทุกอย่าง ภาวะที่มีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เต๋า(ทาง) ซึ่งไม่มีตัวตน หรือกฎธรรมชาติ การศึกษาและวัฒนธรรมนำความชั่ว ความมีทิฐิมานะ ความทะยานอยาก ความฟุ่มเฟือยหรูหรา ความหลอกลวงมาให้แก่เรา แต่เมื่อมนุษย์หันกลับไปหาธรรมชาติที่แท้จริงครั้งแรก และมุ่งต่อเมตตาธรรม ปัญญา ระเบียบแบบแผนและเจตคติยุติธรรมแล้ว เขาจะมีความสงบ และสุขสบายได้”[2]
ด้วยการคิดเช่นนี้เอง ในด้านปรัชญาสังคมที่จะดีได้ของเหลาจื้อ ก็คือสังคมบุพกาล หรือปฐมสังคม ซึ่งหามีความสลับซับซ้อนไม่ รัฐดังกล่าวเป็นแต่รัฐเล็กๆ ผู้คนจำนวนน้อยอาศัยอยู่ จึงเป็นสังคมที่บริสุทธิ์ แม้แต่เครื่องมือเครื่องใช้ ถึงมีก็ไม่ใช้กัน มีทั้งเรือและเกวียน แต่ก็ไม่มีคนใช้เรือหรือใช้เกวียนสัญจรไปมา แม้ว่าจะมีอาวุธก็เป็นแต่เพียงเก็บรักษา ก็ไม่มีใครใช้กัน เพื่อนบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้กันจนได้ยินเสียงหมาเห่า และไก่ขัน ก็ไม่เคยไปมาหาสู่กันเลย ดูแล้วจึงยากต่อการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นสังคมในอุดมคติ เป็นสังคมที่ดีมีความสวยงาม แต่ความหมายของเหลาจื้อต้องมีความลึกซึ่งกว่านี้เป็นแน่นั่นคือความสงบสุขภายในดวงจิต
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นตามวิถีทางธรรมชาติของมันและตัวของมันเอง เหลาจื้อมีทัศนะเช่นนี้ท่านจึงกล่าวว่า “โลกจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกหลักจริยธรรม”[3] ซึ่งหมายถึง ความดี และความชั่วนั้นเป็นเพียงการสมมติกันขึ้น จากคุณลักษณะที่มีแฝงอยู่ในสิ่งทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามสภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น