มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี

มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี สร้างปัญญาให้สังคม สร้างสังคมอุดมธรรม

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปรัชญาเต๋า


มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี


ภาพรวมของคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง
            คัมภีร์เหลาจื่อหรือที่นิยมเรียกกันว่า  คัมภีร์เต๋าเต๋อจิง  เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นหลังคัมภีร์อี้จิง  สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับคัมภีร์ของขงจื่อ  ความลึกซึ่งของคัมภีร์นี้เป็นที่กล่าวขานในหมู่นักปราชญ์มาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วมสองพันกว่าปี  อย่างไรก็ดี  วิถีสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว  ขงจื่อและเหลาจื้อก็นำเสนอออกมาแตกต่างกัน  เช่น  ขงจื่อมักจะนำเสนอปรัชญาของตนผ่านมิติเฉพาะแห่งกาลเทศะและประวัติศาสตร์  ต่างจากในคัมภีร์เต๋าเต๋าจิงที่มีมิติกาลเทศะรวมทั้งมิติบุคคลไม่ได้มีบทบาทสำคัญในคัมภีร์มาก  การที่คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงให้ความสำคัญกับการเข้าใจ  เต๋า  ไม่ได้หมายความว่า  คัมภีร์นี้จะเป็นคัมภีร์รหัสยลัทธิเสมอไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความว่า  จะเข้าใจสิ่งที่เหลาจื่อเรียกว่า  เต๋า  อย่างไร  นักวิชาการปรัชญาจีน  เช่น  อาจารย์ดี.ซี.เลา (D.C. Lao)  ให้ความเห็นสนับสนุนว่าคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็นคัมภีร์แห่งการปกครอง  ส่วนอาจารย์วิง-ซิท  ซาน(Wing-tsit  Chan)  ก็เห็นร่วมกันว่าคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงไม่ได้เป็นคัมภีร์สำหรับผู้หลีกลี้สังคม  แต่  เป็นคัมภีร์สำหรับราชาปราชญ์ที่ไม่ได้ละทิ้งโลกและปกครองโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายยุ่งเกี่ยว  และยังมีอาจารย์โรเจอร์  ที.  เอมส์ (Roger  T.  Ames)  ผู้แสดงความคิดเห็นว่า  จุดมุ่งหมายของคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงน่าจะเป็นไปเพื่อทุกคนสามารถตระหนักรู้ในตัวตนและวิถีแห่งธรรมชาติ  เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ  ได้อย่างเหมาะสมกับตนเอง  ซึ่งแม้ว่าจะมิได้จำกัดเฉพาะผู้ปกครองเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น  แต่ทั้งนี้การที่ประชาชนจะดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองสังคมที่ยึดวิธีการปกครองแบบ  เต๋า  ที่เพียงบำรุงเลี้ยงดู  แต่ไม่ได้ก้าวก่ายด้วยเช่นกัน  ตามที่กล่าวมา  จึงอาจกล่าวได้ว่า  คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็นคัมภีร์รหัสยลัทธิ  ที่มิได้สอนให้คนหลีกลี้สังคม  แต่นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันมากกว่า[1]
              ดังเห็นได้ว่า  แม้แนวคิดด้านการเมืองการปกครองจะเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของคัมภีร์นี้ก็ตาม  แต่การวางหลักปกครองหรือหลักจริยธรรมในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงก็มิได้กล่าวอย่างลอยๆ  หากแต่แต่วางอยู่บนรากฐานทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับเต๋า  และความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ  การจะเข้าใจหลักการปกครองหรือหลักอื่นใด ๆ  ที่อาจมีอยู่ในคัมภีร์นี้ได้อย่างสมบูรณ์จึงขาดไม่ได้ที่ต้องพิจราณาโลกทัศน์ทางอภิปรัชญาของเหลาจื่อเกี่ยวกับ  เต๋า (Tao)  และกระบวนการแปรเปลี่ยนตามธรรมชาติของเต๋าควบคู่กันไปด้วย


[1] ศริญญา  อรุณขจรศักดิ์,ภาษาและความเป็นจริงในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงและคัมภีร์จวงจื่อ,หน้า35.

ไม่มีความคิดเห็น: